ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประตูชัยณรงค์

 จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่ ที่ปัจจุบันมีความเจริญเป็นอย่างมาก ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ประตูสู่อีสาน" คำพูดนี้มิใช่เป็นฉายาที่เรียกกันในปัจจุบันเท่านั้น แต่ทว่ามีการกล่าวขานมานานแล้ว เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านที่มีไว้ป้องกันข้าศึกรุกรานสู่เมืองอยุธยา และเป็นทางผ่านสำหรับการคมนาคม ค้าขาย ไปยังเมืองต่างๆของภาคอีสาน 
          ในสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-พ.ศ.2231) มีพระราชดำริว่า ดินแดนภาคอีสานเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ ลาว ญวน  จึงโปรดให้สร้างเมืองที่มีป้อมปราการแบบฝรั่ง ในฐานะเมืองสำคัญชายพระราชอาณาเขต โดยเกณฑ์ช่างจากกรุงศรีอยุธยา เกณฑ์แรงงานจากเมืองโคราช กับเมืองเสมา ช่วยกันสร้างเมืองใหม่ ห่างจากเมืองโคราชเก่าที่ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอโนนสูง ไปทางทิศตะวันออก 800 เส้น หรือประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งก็คือพื้นที่ตัวเมือง บริเวณเขตกำแพงเมือง และคูเมืองในตอนนั้นมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้วางผังเมือง ผังเมืองมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม รูปกลองชัยเภรี มีความกว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 1,700 เมตร มีพื้นที่ภายในประมาณ 1,000 ไร่ รอบตัวเมืองขุดคูกว้าง 20 เมตร ลึก 6 เมตร ยาวล้อมรอบเมือง มีโครงข่ายถนนภายใน ตัดกันมีรูปแบบเป็นตารางหมากรุก ก่อสร้างกำแพงเมืองโดยก่ออิฐขึ้นจากหินศิลาแลง มีความสูง 6 เมตร ยาวโดยรอบ 5,220 เมตร บนกำแพงมีใบเสมาโดยรอบ จำนวน 4,302 ใบ
          เดิมนั้น ก่อนการก่อสร้างกำแพงเมือง ใบเสมาบนกำแพงได้ออกแบบไว้ให้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามแบบของฝรั่ง แต่ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้าง พระยมราช(สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะใบเสมาให้เป็นแบบของไทยแทน บริเวณกำแพงมีป้อมประจำกำแพง และป้อมตามมุมกำแพงรวม 15 ป้อม มีประตูเมืองกว้าง 3 เมตร จำนวน 4 ประตู โดยประตูเมืองทั้ง 4 เป็นทางเข้า-ออกเมืองทั้ง 4 ทิศ บริเวณซุ้มประตูเมือง จะมีหอยามรักษาการณ์-เชิงเทินรูปแบบเป็นทรงไทยโบราณ ศิลปะสมัยอยุธยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันหมดทุกแห่ง มีชื่อเรียกประตูเมืองทั้ง 4 นี้ว่า
          1. ประตูชุมพล
          2. ประตูพลแสน
          3. ประตูพลล้าน
          4. ประตูไชยณรงค์
          ซึ่งวันนี้ทางผู้เขียนจะมาเขียนถึงประตูชัยณรงค์(ประตูผี)ประตูเมืองทางทิศใต้ สำหรับชื่อประตู "ไชยณรงค์" นั้นเนื่องจากในสมัยนั้นทางทิศใต้มีบึงใหญ่ มีชื่อเรียกว่า"หนองบัว" เมื่อยามเกิดศึกสงคราม ประตูนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ยากต่อการโจมตีของข้าศึก เพราะภูมิประเทศด้านนี้เต็มไปด้วยหนองน้ำขนาดเล็ก ใหญ่ แต่ปัจจุบันหนองน้ำเหล่านั้นถูกถมไปหมดแล้ว ส่วนชื่อที่ชาวเมืองเรียกว่า"ประตูผี" เนื่องจากในอดีต มีประเพณีความเชื่อว่า เมื่อมีคนตายขึ้นในเมือง ห้ามมีการเผาการฝังเอาไว้ในเมือง ให้ไปผจัดการพีธีกรรมต่างๆที่นอกเมือง โดยให้นำศพผ่านออกทางประตูนี้เพียงประตูเดียว 


ประตูชัยณรงค์ในตอนกลางวัน
ประตูชัยณรงค์ตอนกลางคืน



          ปัจจุบันประตูเมืองนครราชสีมารวมทั้ง กำแพงเมือง และคูเมือง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของตัวเมืองนครราชสีมา ที่ยังพบเห็นอยู่ ประตูเมืองนั้นได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันยังคงมีประตูชุมพลที่ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ได้ และนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของนครราชสีมา ส่วนประตูอื่นๆ ได้มีการบูรณะ และก่อสร้างใหม่ เพื่อให้เข้ากับการจราจรในปัจจุบัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
นางสาวปวีณา ใครวัตร
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ความคิดเห็น